Giving Birth in Japan (ประสบการณ์คลอดลูกที่ญี่ปุ่น)

บล็อกเรื่องนี้จะเขียนค่อนข้างยาวหน่อยนะคะ เป็นประสบการณ์ที่เป็นเคสของเราเอง ขอเกริ่นก่อนว่าเคสของเราอาจจะแตกต่างกับของคนอื่น เพราะอาจไม่เหมือนทุกที่ในญี่ปุ่นเสมอไป

ตามกำหนดคลอดของเราคือวันที่ 22 มกราคม 2020 แต่เนื่องจากเรายังไม่มีอาการปวดท้องเตือน (เราปวดแต่บริเวณปากมดลูก ความรู้สึกเหมือนหัวของน้องมาดุนๆ) และเลยกำหนดมาหน่อยแล้วทางหมอก็ให้เราเข้าโรงพยาบาล 27 มกราคมค่ะ

27 มกราคม 2020 … เข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการเร่งคลอด

เริ่มให้ยาเร่งคลอดตั้งแต่ 10 โมงครึ่ง โดยให้ทุกชั่วโมงเป็นยาครั้งละเม็ด ให้จนครบ 6 ชม. พอถึงเวลาประมาณ 4 โมงกว่าเราเริ่มรู้สึกเหมือนมีน้ำคร่ำออก พอเช็คดูปรากฏว่าใช่ แถมเริ่มปวดท้องเตือนทุกๆ 5 นาที พอเช็คอีกทีก็คือปากมดลูกเปิด 4 ซม. แล้วและเราก็ปวดอยู่แบบนั้นจนเกือบ 5 โมงเย็นจึงถูกพาตัวไปยังห้องพักรอคลอด

conduct-of-labor-pregnant-woman-midwives

ห้องพักรอคลอด และห้องคลอด

เราปวดท้องและร้องไห้หนักอยู่ในห้องพักรอคลอดครู่นึง พอ 6 โมงเย็นจึงถูกย้ายไปยังห้องคลอด ตอนนั้นสามีและคุณแม่ของเราได้เข้าห้องคลอดด้วย มีพยาบาลและคุณหมอคอยช่วยเหลือตลอดเวลา ในช่วงเวลานั้นเราไม่ได้รับยาชาหรือบล็อกหลังแต่อย่างใด (ถึงจะอยากได้แทบแย่แต่ทางญี่ปุ่นเค้าไม่ค่อยให้ ต้องอดทนลูกเดียว ส่วนเรื่องผ่าคลอดเค้าก็จะให้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) ทีนี้เราจึงรู้สึกถึงทุกอณูความรู้สึกก็ว่าได้

ความเจ็บปวดเริ่มก่อตัวมากขึ้นจนทนไม่ไหว

ตอนนั้นเราก็ไม่รับรู้แล้วว่ากี่โมงกี่ยาม มีแต่ความเจ็บปวด รู้สึกว่าน้องกำลังจะออกมา เราเลยทำไรไม่ได้นอกจากแยกขาออก ตอนนั้นทางพยาบาลและคุณหมอก็ให้เราเบ่ง ห้ามกรีดร้อง แต่เรากรีดร้องบ่อยมากจนเค้าต้องเอาผ้ามาอุดปากกันเลยทีเดียว เพราะนี่เป็นสิ่งที่ทางญี่ปุ่นเค้าทำกันคือห้ามส่งเสียงออกมาระหว่างคลอด แต่ให้หายใจเป็นจังหวะแทนคือการเป่าลมหายใจออกเป็นจังหวะ ฟู่ๆ ไรทำนองนี้

มีช่วงนึงหมอได้ทำการเจาะต่อสายน้ำเกลือเพื่อให้ยาเร่งคลอดอีกที (ถ้าจำไม่ผิดการให้ยาเร่งคลอดทางสายน้ำเกลือจะรุนแรงกว่าแบบยาเม็ด) ตอนนั้นหมอเจาะหาเส้นเลือดเราแขนซ้ายไปตั้ง 3 ที แต่ก็ไม่เป็นผลเลยเหมือนแขนข้างซ้ายเราบวมก็เลยต้องมาเจาะแขนข้างขวาแทน แทบระบมเลย

เราเบ่งอยู่นานมากเป็นชั่วโมงจนเหนื่อย รู้สึกเหมือนตัวเองตาเหลือกหน่อยๆแต่หูยังได้ยินทุกอย่าง แต่ที่คุมไม่ได้คือมือของเราที่มันสั่นๆ (เห็นแม่บอกว่าเราความดันขึ้นตอนนั้นด้วย ทางหมอและพยาบาลเลยเอาผู้ช่วยมาอีกสองสามคนได้) ตอนนั้นแทบหมดแรงเพราะจับที่จับข้างเตียงช่วงที่เบ่งคลอด มองแขนตัวเองที่มีสายน้ำเกลือละพยายามใช้แรงเบ่งคลอดแบบนั้นคือแทบทรมาน ยิ่งคนไม่ใช้ยาชาแบบเรานี่เจียนตาย และระหว่างเบ่งเองเราก็ปวดสะโพก พยาบาลก็คอยช่วยนวดให้ตลอด บางทีก็ปวดน่อง ตะคริวกินบ้าง เค้าก็มาคลึงๆให้เราผ่อนคลาย

medical_syussan 61d0cc8d19df9af5db0a262b4837b841_1499252754-740x502

ช่วงเวลาสำคัญของชีวิตผู้หญิงคนนึง

เราแทบจดจำทุกช่วงเวลานั้นได้เลย เนื่องจากเราเบ่งมานานแล้ว ความรู้สึกเหมือนหัวของน้องยังคาอยู่เพราะหัวน้องใหญ่ หมอก็เลยต้องใช้เครื่องมือช่วยดึงแทน ซึ่งเป็นเครื่องสูญญากาศที่ไว้ดึงหัวเด็ก การใช้เครื่องมือนี้จะทำให้หัวของเด็กยาวกว่าปกติหน่อย แต่หลังคลอดไปหัวเด็กจะหดกลับมาเป็นปกติ

เวลาที่น้องออกจากท้องเรานั้น เรารู้สึกทรมานที่สุด แถมวุ่นวายหน่อยๆคือหมอใช้เครื่องมือดึงและมีผู้ช่วยคนนึงมายืนกดหน้าท้องเราอยู่ข้างๆเหมือนกำลังปั๊มหัวใจเพื่อดันให้เด็กออกจากท้อง ตอนนั้นเราตกใจทำไรไม่ถูกนอกจากออกแรงเบ่งอย่างเดียว พอน้องออกมาแล้วรู้สึกได้ว่าท้องยุบไปพร้อมกับความรู้สึกเหมือนของเหลวอุ่นๆไหลออกมา แน่นอนว่ามันคือเลือดนั่นแหละ พอเด็กออกมาเราได้ยินเสียงร้องของเค้าก็ดีใจมาก เราคอยถามว่าหมอว่าลูกเกิดตอนราวๆกี่โมง ก็ประมาณ 23.12 น. สักพักหมอก็เอารกเราออก ความรู้สึกเหมือนถุงของเหลวอุ่นๆถูกดึงออกมา จริงๆทั้งหมดยังไม่เสร็จนะคะ ต้องเย็บแผลที่ฉีกขาดอีกด้วย เราเองก็เสียเลือดมากเหมือนกัน ละหมอใช้เวลาเย็บแผลนานมากจนเราแทบอยากนอนตายไปเลย ส่วนลูกเรานั้นแข็งแรงดี เป็นผู้ชาย น้ำหนัก 3148 กรัม ความยาว 53 ซม. คือกำลังโอเค มานึกแล้วก็ตกใจอยู่นะเพราะเราสูง 153 น้องตัวยาว 53 … ขนาด 1 ใน 3 ของตัวเราอยู่ในท้องของเราขนาดนี้เลยหรือนี่ …

07-nl-5038-01

หลังจากคลอดน้องออกมาแล้ว เราเจอปัญหาคือโดนให้สายน้ำเกลือเพื่อลดการอักเสบเพราะเราเจ็บแผลฝีเย็บอยู่ ซึ่งมันทรมานมากเพราะเจ็บจนนั่งปกติไม่ได้ ต้องมีหมอนรองนั่งแบบพิเศษที่มีรูแบบโดนัทหรือเว้าเล็กน้อยตามรูปด้านบน จริงๆอาการนี้เป็นปกติของคนท้องหลังคลอดแต่เราเป็นไรนักหนาก็ไม่รู้ เห้ออออออ

tsumura

ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือเท้าเราบวมมาก! ตกใจสุดๆที่เห็นเท้าตัวเองเป็นแบบนี้ เหมือนเท้าช้างเลยก็ว่าได้ แต่เราสงสัยว่าทำไมเป็นตอนหลังคลอด เพราะก่อนคลอดเราแทบไม่บวมเลย ตอนแรกเราคิดว่าที่บวมเพราะให้สายน้ำเกลือแต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุ สรุปคืออาการบวมน้ำหลังคลอด หมอก็เลยให้ยามากินเพิ่มเติมเป็นยาสมุนไพรจีนที่เรียกกันว่า 漢方 (kanpou)

 


 

ทั้งหมดข้างต้นคือประสบการณ์ที่เราพบเจอนะคะ ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เราอยากแชร์ให้ทุกคนได้เห็นว่าทางญี่ปุ่นมีอะไรให้เราบ้างในช่วงพักฟื้นหลังคลอด ทางโรงพยาบาลที่เราอยู่นั้นให้พักฟื้น 1 อาทิตย์ค่ะ (เข้าพัก 27 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์)

IMG_1270

หลังคลอดทางพยาบาลจะเอากระเป๋าใบใหญ่ใบนี้มาให้ … ส่วนข้างในมีอะไรบ้างนั้นตามรูปด้านล่างนะคะ

IMG_1271

ด้านบนเป็นบราที่เปิดอกให้นมลูกได้ อันต่อมาเป็นสายรัดสะโพกเพราะหลังคลอดจะมีอาการปวดกระดูกบั้นเอว อันต่อมาเป็นผ้าขาวบางๆไว้เช็ดปากทารก ซึ่งเราได้มา 5 ซอง … ด้านล่างเป็นเซ็ทไว้ทำความสะอาดสะดือทารก และได้ถุงผ้าสีดำมาด้วย

IMG_1142

อันซ้ายเป็นแผ่นซับน้ำนม เพราะตอนหลังคลอดน้ำนมจะเริ่มออกมาเลอะบราจึงต้องมีแผ่นซับนี้ติดไว้กับบรา อันขวาเป็นทิชชู่เปียกไว้เช็ดก้นเด็กตอนเปลี่ยนผ้าอ้อม

IMG_1141

สุดท้ายเป็นผ้าอนามัยสำหรับคนท้องหลังคลอดโดยเฉพาะ แทบจะเป็นผ้าอ้อมได้เลยเพราะมันใหญ่มาก ซึ่งมี 3 ไซส์ด้วยกันคือ L , M และ S

การใช้คือหลังคลอดใหม่ๆช่วงกลางวันและกลางคืนจะมีเลือดออกเยอะมากจึงต้องใช้ไซส์ L ก่อน พอหลังคลอดไป 1-2 วันเลือดจะออกน้อยลง โดยกลางวันใช้ไซส์ M ส่วนกลางคืนก็ไซส์ L ไว้กันเลอะ วันต่อๆมาเลือดจะยิ่งออกน้อยลงค่อยใช้ไซส์ S ตามลำดับ

IMG_1234

อย่างสุดท้ายเป็นผ้าอ้อมค่ะ เราคิดว่านี่แพ็คใหญ่แล้ว แต่จริงๆมันยังน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะเด็กทารกจะใช้ผ้าอ้อมเปลืองอย่างแรง วันนึงถ้าเปลี่ยนบ่อยๆตกวันละ 8 – 10 แผ่นเลยก็ว่าได้

 


 

เมื่อพูดถึงสิ่งประทับใจในการพักโรงพยาบาลในญี่ปุ่นคือของกินค่ะ … ไม่ได้เห็นแก่กินแต่มันดีจริงๆนะ เพราะเค้าเตรียมอาหารหลากหลายมาก … ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าเราพักแบบห้องรวม 4 คนนะคะ เชิญชมรูปด้านล่างได้เลย (คลิกที่รูปเพื่อดูรูปใหญ่)

 

มื้อเที่ยง วันที่ 27 มกราคม 2020 (วันเข้าโรงพยาบาล)

IMG_1128

เมนูวันที่ 28 มกราคม 2020

เมนูวันที่ 29 มกราคม 2020

เมนูวันที่ 30 มกราคม 2020

เมนูวันที่ 31 มกราคม 2020

เมนูวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020

มื้อเช้า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 (วันออกจากโรงพยาบาล)

IMG_1244

 

ตอนเรากลับมาบ้านคือคิดถึงอาหารโรงพยาบาลทุกวันเลย ฮ่าาาาา มีประโยชน์และอร่อยด้วย แต่ไม่ได้อยากเข้าโรงพยาบาลตลอดหรอกนะ

อีกเรื่องนึงที่เราประทับใจคือคุณหมอที่ดูแลเราค่ะ ความประทับใจแรกคือตอนเราฝากครรภ์เป็นหมอผู้หญิงแถมหน้าตาน่ารักด้วย ดูน่าจะราวๆ 30 กว่า ความประทับใจต่อมาคือเค้าเป็นคนทำคลอดให้เราด้วย ยิ่งเป็นอะไรที่เราวางใจและสบายใจที่สุดเลย เหมือนเค้าดูแลเรามาตั้งแต่แรกจนเราคลอด มีช่วงนึงที่หมอคนนี้เค้าทำแผลฝีเย็บให้เราอยู่ คุณแม่ได้ถ่ายรูปหมอคนนี้ไว้ หมอคนนี้ผมสั้นระต้นคอโดยประมาณ ผมม้าของหมอปรกหน้าดูเท่มากเลย แง้ ~~~

ปิดท้ายด้วยของขวัญจากโรงพยาบาลค่ะ

IMG_1247    img_1272

สมุดรูปเล่มบันทึกรูปและรายละเอียดของลูกเราพร้อมรอยเท้าในวันเกิด และกรอบรูป

 


 

สิ่งที่เราเขียนไว้ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เราอยากให้ทุกคนได้รับรู้ประสบการณ์ที่เราได้พบเจอ รวมถึงความใส่ใจของโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่น หวังว่าทุกอย่างที่เขียนในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็ไม่น้อยนะคะ

4 thoughts on “Giving Birth in Japan (ประสบการณ์คลอดลูกที่ญี่ปุ่น)

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.